การพิจารณาความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้า ไม่อาจพิจารณาเฉพาะเพียงแค่ตัวอักษร หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าได้ ในแนวทางการพิจารณาและการตีความของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และศาลฎีกา มักจะพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้า สำเนียงเรียกขานในเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวก ที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ประกอบการพิจารณาเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 มาตรา 13 ซึ่งบัญญัติว่า
“มาตรา 13 ภายใต้บังคับมาตรา 27 ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้น นายทะเบียนเห็นว่า
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว หรือ
(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
ถ้าเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียว หรือต่างจำพวกกัน ที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน”
จากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนจะพิจารณาไม่รับจดทะเบียน เนื่องจากเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีความคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว จะต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเห็นว่า เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน กล่าวคือ เป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันหรือคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าได้