สำนักงานกฎหมาย KNInterlaw

การกำหนดอายุความทางแพ่ง

การกำหนดอายุความทางแพ่ง

กำหนดอายุความ 2 ปี

เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้จากการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า
เจ้าหนี้เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบแล้ว ตามสัญญาซื้อขาย หนี้ที่เกิดจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกัน หนี้ค่าสินไหมทดแทนกรณี เรียกให้บริษัทประกันภัยรับผิด หนี้ตามสัญญาจ้างทำของ

กำหนดอายุความ 5 ปี

เช่น หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรกดเงินสด หนี้ตามสัญญากู้ยืมที่มีการผ่อนต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าเช่าบ้าน ที่ดิน ค้างชำระ
เจ้าหนี้เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบแล้ว ตามสัญญาซื้อขาย ที่ซื้อไปใช้เพื่อประกอบกิจการของฝ่ายลูกหนี้

ตัวอย่าง

ซื้อปูนซีเมนต์จากนำไปจำหน่ายหรือนำไปผสมเป็นคอนกรีตผสมเสร็จจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้

กำหนดอายุความ 10 ปี เช่น หนี้วงเงินเบิกเกินบัญชี อายุความในการฟ้อง หลังจากมีการผิดนัดชำระตามสัญญา หนี้เงินกู้ยืม สัญญากู้ยืมที่กำหนดชำระเงินต้นคืนทั้งหมดในครั้งเดียว ค่าขาดราคา ค่าขาดประโยชน์ ค่าติดตาม เรียกให้ส่งคืนหรือใช้ราคาแทน ตามสัญญาเช่าซื้อ อายุความในการบังคับคดีตามคำพิพากษา

ดอกเบี้ยที่ประกาศแก้ไขใหม่ ปี 2564

พระราชกำหนดการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องดอกเบี้ย พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 มีผลบังคับใช้วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมีสาระสำคัญแตกต่างจากกฎหมายเดิม ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

รายละเอียด กฎหมายเดิม กฎหมายใหม่
ดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงไว้ก่อน
7.5% ต่อปี อัตราคงที่ตลอดไป
3% ต่อปี ให้ ก.คลัง ทบทวนทุก 3 ปี
ดอกเบี้ยผิดนัด
7.5% ต่อปี อัตราคงที่ตลอดไป
5% ต่อปี (ตกลงกันแตกต่างจากนี้ได้)
วิธีคิดคอกเบี้ยผิดนัด กรณีผ่อนส่งเป็นงวด
คิดจากเงินต้นที่ค้างทั้งหมด
คิดจากเงินต้น เฉพาะงวดที่ผิดนัด
(จะตกลงกันแตกต่างจากนี้ไม่ได้)

การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ สิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี” ซึ่ง มาตรา 654 นี้ อยู่ในบรรพ 3 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2474 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้มีพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ประกาศใช้บังคับ ซึ่ง มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า

บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ มีความผิดฐานเรียก ดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น การกู้ยืมเงินโดยตกลงคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนี้ไม่ชอบด้วย กฎหมายที่กำหนดว่าเป็นความผิดและมีโทษอาญา ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ใช่เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี

คำพิพากษาฎีกา ที่ 1452/2511 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงิน 14,000 บาท จำเลยให้การว่า กู้และรับเงินเพียง 10,000 บาท จำเลยชำระแล้ว ส่วนอีก 4,000 บาท โจทก์เอาดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน จำนวน 8 เดือน มารวมเข้าเป็นเงินต้น เป็นคำให้การที่ต่อสู้ว่าหนี้ตามสัญญากู้ จำนวน 4,000 บาท ไม่สมบูรณ์ จำเลยนำสืบได้ และเมื่อฟังได้ตามคำให้การ ดอกเบี้ย 4,000 บาท เป็นดอกเบี้ยที่เกินอัตราตกเป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ใช่เป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่เกิน และเมื่อจำเลยชำระหนี้ 10,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) มาตรา 654 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี แต่ถ้าเป็นการให้กู้ยืมเงิน ของสถาบันการเงิน จะเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยตามมาตรา 4 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รมว.คลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ย ที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ ตามมาตรา6 บัญญัติว่า เมื่อรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา4 มิให้นำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ.มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 4 ซึ่งหมายความว่าอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดเกินกว่าร้อยละ 15 ก็ได้

การให้กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง หรือเกินกว่าอัตราที่ รมว.คลังกำหนดตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 นอกจาก เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นโมฆะแล้ว ยังเป็นความผิดตามกฎหมาย คือพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งตราขึ้นบังคับใช้โดยมีเหตุผลสำคัญคือ การให้กู้ยืมเงินโดยอัตราดอกเบี้ยสูงเกินอัตรานั้น ย่อมเป็นทางเสื่อมประโยชน์ของบ้านเมือง สมควรจะป้องกันกันราษฎรมิให้ต้องเสียดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้

โดยสรุปคือ การให้กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือกำหนดข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับจำนวนเงินกู้ในสัญญากู้เงินเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา หรือนอกจากเรียกดอกเบี้ยแล้วยังเรียกประโยชน์อย่างอื่นจนเห็นได้ว่าประโยชน์ได้รับมากเกินส่วนอันสมควร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกำหนดความผิดของผู้ได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องจากบุคคลอื่นโดยรู้อยู่ว่าเป็นสิทธิที่ได้มาจากการกระทำความฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และใช้สิทธินั้นหรือพยายามถือเอาประโยชน์แห่งสิทธินั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นโมฆะ

ท่านสามารถแชร์ความรู้, บทความและคำพิพากษาได้ที่นี่
  •  
  •  
  •  
error: Content is protected !!